Wednesday, May 8, 2013

TrueStar Health : Vitamin TrueStar วิตามินอันดับ 1 จากอเมริกา

TrueStar Health : Vitamin TrueStar วิตามินอันดับ 1 จากอเมริกา


ไขข้อสงสัย ทำไมใส่บรานอนแล้วจึงเสี่ยงมะเร็งเต้านม

Posted: 08 May 2013 04:00 AM PDT

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

เคยได้ยินไหมที่สาว ๆ เตือนกันเองว่า “ไม่ต้องใส่บราหรือเสื้อชั้นในเวลานอน เพราะเดี๋ยวจะทำให้เป็นมะเร็งเต้านม” แล้วคุณรู้ไหมคะว่าทำไมการใส่เสื้อชั้นในตอนนอนถึงทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้ วันนี้กระปุกดอทคอมมาไขความสงสัยให้ได้ทราบกันค่ะ

ในปี 1995 ได้มีหนังสือเล่มหนึ่งตีพิมพ์ออกมาว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการใส่บรากับความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านม หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า “Dressed to Kill” โดยสองนักวิจัยชาวอเมริกัน ซิดนีย์ รอส ซิงเกอร์ และ โซม่า กริสมายเจอร์ กับผลการวิจัยที่สรุปออกมาอย่างน่าตกใจว่า ผู้หญิงที่ใส่บรานานเกินวันละ 12 ชั่วโมง มีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงกลุ่มที่ไม่นิยมใส่เสื้อชั้นในนาน ๆ

งานวิจัยของทั้งสอง ได้ทำการสำรวจจากหญิงอเมริกันราว 4,700 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งในกลุ่มนั้นเป็นโรคมะเร็งเต้านม หลังจากได้สอบถามประวัติและพฤติกรรมการใส่เสื้อชั้นในจากคนทั้งสองกลุ่มแล้ว พบว่าสิ่งที่กลุ่มผู้เป็นโรคมะเร็งเต้านมมีเหมือน ๆ กัน คือ ใส่เสื้อชั้นในที่แน่นกระชับ และใส่เป็นจำนวนชั่วโมงที่ยาวนานถึงขนาดใส่แม้กระทั่งเวลานอน อันต่างจากพฤติกรรมของหญิงกลุ่มที่ไม่เป็นมะเร็งเต้านมเป็นอย่างมาก

แล้วการใส่เสื้อชั้นในด้วยชั่วโมงที่ยาวนาน มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องต่อการเป็นมะเร็งเต้านมอย่างไร? หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายไว้ว่า การใส่เสื้อชั้นในที่ยาวนาน ทำให้หน้าอกถูกบีบรัดกดทับอยู่ตลอด จนต่อมน้ำเหลืองไม่สามารถระบายของเสียที่และสิ่งแปลกปลอมที่ดักจับได้ออกจากร่างกายไป โดยต่อมน้ำเหลืองที่ทำหน้าที่ดักจับและทำลายเชื้อโรค ซึ่งมีทั้งแบคทีเรีย ไวรัส อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายตามธรรมชาติ และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการให้แก่เนื้อเยื่อบริเวณหน้าอกทั้งสองข้างนั้น อยู่บริเวณใต้รักแร้ เมื่อมีทางเดินน้ำเหลืองซึ่งเต็มไปด้วยของเสียถูกกดทับด้วยความโอบกระชับของการใส่บราต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ของเหลวดังกล่าวจึงคั่งอยู่ในจุด ๆ เดียว ก่อให้เกิดอาการบวมน้ำเหลือง เป็นซีสต์ และเกิดอาการปวดระบม รวมทั้งเป็นบ่อเกิดของเซลล์มะเร็ง เพราะเมื่อมีเสื้อชั้นในมากดทับ น้ำเหลืองซึ่งมีสารอนุมูลอิสระอันมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง คั่งค้างอยู่ที่เนื้อเยื่อบริเวณเดียวกันเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดเซลล์มะเร็งขึ้นที่เต้านมได้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนผลการวิจัยชิ้นนี้จะเป็นเพียงชิ้นเดียวในแวดวงการแพทย์เท่านั้นที่ยืนยันว่าการสวมเสื้อชั้นในติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เกิน 12 ชั่วโมง จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น และยังไม่มีผลการวิจัยอื่น ๆ ที่ยืนยันความเชื่อมโยงเรื่องการใส่บรากับการเป็นมะเร็ง แต่อย่างไรก็ตาม ฟังหูไว้หูเอาไว้ก่อนก็น่าจะเป็นเรื่องดีนะคะ ที่สำคัญการใส่เสื้อชั้นในยามนอนหลับพักผ่อนนี้น่าอึดอัดออกจะตายไป ถ้าอยู่กับบ้านหรือห้องหับที่มิดชิด จะปล่อยให้หน้าอกหน้าใจของเราเป็นอิสระบ้างก็ไม่เห็นเสียหายเนอะ :)

ลดความเสี่ยง..เมื่อต้องฝากท้องไว้กับอาหารริมทาง

Posted: 07 May 2013 05:00 PM PDT

มองข้ามกันไม่ได้เลยนะคะสำหรับอาหารริมทาง หรือที่ฝรั่งเขาให้สมญานามว่า "สตรีท ฟู้ด : Street food" เพราะกลายเป็นจานโปรดของคนส่วนใหญ่ เนื่องจากความรวดเร็ว ง่าย สะดวก อร่อย ราคาสบายกระเป๋า โดยสื่อต่างชาติ อย่าง บีบีซี เคยทำรายงานเกี่ยวกับอาหารริมทางที่ดีที่สุดในกรุงเทพ (The best of Bangkok's Street food) ส่วนซีเอ็นเอ็นก็กล่าวถึงอาหารริมทางในเมืองหลวงของไทยไว้ในเนื้อหาด้านท่องเที่ยวเช่นกัน

แม้อาหารริมทางจะเป็นที่นิยมตามที่กล่าว แต่ก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพมิใช่น้อย เห็นได้จากหลายคนเคยทานอาหารประเภทนี้แล้วท้องเสีย ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพราะระบบจัดการควบคุมดูแลที่ไม่สามารถทำได้ 100% ภาครัฐและกทม.ก็ทำหน้าที่ได้แค่ส่งเสริมให้ความรู้ และสุ่มตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งอาจไม่ถึง 5% ของร้านอาหารริมทางที่มีทั้งหมด

เมื่อพึ่งพาใครไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ที่เราเองควรระมัดระวัง มาอ่านทริคดีๆ ในการเลือกทานอาหารริมทางให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพน้อยที่สุดกันดีกว่าค่ะ

“ความสะอาดและสุขลักษณะ” ส่วนใหญ่เป็นร้านเล็กๆ ตั้งแต่รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ไปจนถึงใช้รถยนต์ดัดแปรงเป็นครัว ซึ่งง่ายมากที่จะสังเกตความสะอาดค่ะ ดังนั้นก่อนซื้อควรสังเกตว่ามีสุขลักษณะโดยภาพรวมดีหรือไม่ ตั้งแต่การจัดวางวัตถุดิบ อุปกรณ์ ผู้เขียนเองเคยไปรอซื้อโจ๊กหมูข้างทาง ขณะรอซื้อก็เห็นตั้งแต่แมลงวันที่เกาะตามถุงขยะเล็กๆ ของร้าน และบินมาเกาะยังชิ้นส่วนของตับและเครื่องในหลังลวก ไปจนถึงมีดคุณแม่ค้าที่ใช้หั่นของสุกและดิบสลับกันโดยที่ไม่ทำความสะอาดแต่อย่างใด ร้านส้มตำที่คนขายไอค๊อกแค๊ก ใช้ทัพพีตักชิมรสแล้วก็นำทัพพีนั้นไปตักส้มตำใส่ถุงอย่างสบายใจ หรือร้านก๋วยเตี๋ยวน้ำตกที่แช่เลือดสด สารพัดผัก และเนื้อสัตว์ในถังน้ำแข็งที่ใช้เป็นน้ำแข็งให้เราทาน

แต่ละร้านที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่มีสภาพนำพาเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อไวรัส ที่ก่อให้เกิดโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารที่เราซื้อทานกัน ดังนั้น แนะเลือกร้านริมทางที่มีการจัดการที่ดี แยกการจัดเก็บของอาหารดิบ-สุก วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้มีความสะอาด ภาพรวมดูปลอดภัยจะดีกว่า

“สุขลักษณะของแม่ค้า-พ่อค้า” อีกเรื่องที่ฝากให้สังเกตคือ แม่ค้า-พ่อค้าผู้ปรุงอาหาร ร้านที่เราควรเลือกซื้อนั้น ควรดูแลสุขลักษณะของตนให้ดี เช่น สวมหมวกหรือเน็ทคลุมผม ป้องกันเส้นผมร่วงหล่นลงสู่อาหาร ใส่ผ้ากันเปื้อนที่สะอาด สวมถุงมือถ้าต้องจับหรือสัมผัสกับอาหารที่ปรุงสุกแล้ว หรือหากอาหารบางประเภท ถ้าใส่ถุงมือแล้วไม่ถนัด ก็ควรมีผ้าเช็ดมือหรือน้ำล้างมือที่สะอาดไว้คอยทำความสะอาดมือ รวมถึงงดนิสัยช่างเม้าท์ พูดไปทำไป เพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำลายลงสู่อาหาร ลดการนำพาเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค รวมถึงเชื้อโรคต่างๆ ที่มาจากน้ำลายหรือบาดแผลตามผิวหนัง

“ประเภทของอาหาร” ที่ควรเลี่ยงคือ ปิ้ง ย่าง ทอด อาหารเหล่านี้ เสี่ยงทั้งอันตรายจากสารก่อมะเร็งจากความไหม้เกรียม น้ำมันเก่าใช้ทอดซ้ำ และเสี่ยงเรื่องปริมาณไขมันเกินขนาด จนส่งผลต่อโรคอ้วน โรคหัวใจ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด หากอดใจไม่ไหว ให้เลือกที่ไหม้เกรียมน้อยที่สุด อาหารทอดก็สังเกตน้ำมันที่ใช้ทอดก่อนว่ามีสีคล้ำดำหรือไม่ และอย่าทานบ่อย นอกจากนี้ควรเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ ด้วย

“สีสันและหน้าตาของอาหาร” การไม่มีหน่วยงานมาควบคุมดูแลเรื่องความปลอดภัย จึงเป็นไปได้มากที่พ่อค้า-แม่ค้าบางรายจะมองข้ามและนำสารอันตรายมาใช้กับอาหาร เช่น สีที่ใส่อาหาร แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นสีผสมอาหารที่ปลอดภัย และใช้ในปริมาณเหมาะสม รวมทั้งการใส่สารเคมีที่ทำให้อาหารคงความสด อย่าง ฟอร์มาลีน ลงในอาหารทะเลและผักสด ดินประสิวที่ใช้เป็นสารกันบูดและยังทำให้สีสันของเนื้อสัตว์น่าทาน ขัณฑสกรหรือน้ำตาลเทียมในกลุ่มอาหารที่ต้องใช้น้ำตาลในปริมาณสูง เช่นพวกน้ำหวาน น้ำผลไม้ ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารริมทางที่สีสันสวยเด่นดูผิดธรรมชาติ น้ำหวานน้ำผลไม้ที่ทานแล้วมีรสขมที่ปลายลิ้น

“ผักที่ใช้” หลายร้านใช้ผักในปริมาณมาก แต่ต้องการความรวดเร็ว จึงขาดจิตสำนึกต่อผู้บริโภค ไม่ล้างผักก่อนนำมาใช้หรือปรุงอาหาร ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ผักส่วนใหญ่มีปริมาณยาฆ่าแมลงและสารเคมีที่ใช้ในการเพาะปลูกปะปนในปริมาณสูง แม้ผักที่ล้างแล้วก็ยังตรวจพบการตกค้างของยาฆ่าแมลงอยู่เลย ดังนั้นถ้าซื้อแล้วได้ผักสดกลับมา ควรนำไปล้างทำความสะอาดก่อนทาน และอีกเรื่องที่ควรสังเกต “ภาชนะบรรจุ” ที่ควรเลี่ยงคือ การใช้ภาชนะโฟม ถุงกระดาษที่มีหมึกพิมพ์มาใส่อาหารร้อนและอาหารที่มีไขมัน เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับสารอันตราย อย่างสารโลหะหนักต่างๆ ได้ง่ายๆ

อ่านดูแล้วบางท่านอาจเห็นเป็นเรื่องลำบากว่า จะซื้ออาหารริมทางทั้งที ทำไมต้องยุ่งยาก สังเกตมากมายเพียงนี้ อย่าลืมว่า ร่างกายเรามีต้นทุนสูงนะคะ จะทานอะไรทั้งทีก็ควรเลือกสิ่งดีๆ มีอันตรายน้อยที่สุด สารพิษบางชนิดใช้เวลาสะสมในร่างกายนาน กว่าจะเกิดโรคให้ทราบก็สายเกินแก้ ส่วนใครคิดแค่ว่าทานไปเถอะ ขี้เกียจจะมาเลือก ก็ไม่ว่าอะไรค่ะ เพราะ You are what you eat ทานอะไรก็เป็นแบบนั้น อยากมีสุขภาพดี ต้องรู้จักเลือกที่จะทาน

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

No comments:

Post a Comment